ประวัติจังหวัดปราจีนบุรี
ปราจีนบุรี (เดิมสะกดว่า ปราจิณบุรี) เป็นจังหวัดในภาคตะวันออกของประเทศไทย เป็นเมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน มีการพบซากโบราณสถานในหลายพื้นที่ของจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติหลายแห่ง มีอุทยานแห่งชาติอยู่ในเขตมรดกโลกถึง 3 แห่ง ทั้งยังเป็นจังหวัดที่มีพื้นที่ป่ามากที่สุดในภาคตะวันออก แต่เดิมจังหวัดปราจีนบุรีมีพื้นที่กว้างใหญ่มาก เนื่องจากในอดีตเคยมีการยุบรวมจังหวัดนครนายกเข้ากับจังหวัดดังกล่าวในปี พ.ศ. 2485 เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในสภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศตกต่ำระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 [4] ต่อมาในปี พ.ศ. 2489 จึงมีพระราชบัญญัติจัดตั้งจังหวัดนครนายกขึ้นอีกครั้ง[5] อย่างไรก็ตามพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรีก็ยังคงมีความกว้างใหญ่ ทำให้เกิดปัญหาในการปกครองและให้บริการประชาชนเนื่องจากบางอำเภออยู่ห่างไกลจากตัวจังหวัดมาก จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติฯ ให้แยกบางอำเภอทางด้านทิศตะวันออกของจังหวัดปราจีนบุรีแล้วรวมกันจัดตั้งเป็นจังหวัดสระแก้ว ในปี พ.ศ. 2536 จนถึงปัจจุบัน ปัจจุบัน จังหวัดปราจีนบุรีได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นหัวเมืองรองในด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของภูมิภาค มีการลงทุนจากต่างประเทศ ทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเกิดขึ้นใหม่มากมาย ทำให้ภาพรวมในจังหวัดดีขึ้น รายได้ต่อปีต่อหัวของประชากร เฉลี่ย 450,000 - 480,000 บาท อยู่ในอันดับ 3 ของประเทศไทย อ้างอิงจากรายชื่อจังหวัดในประเทศไทยเรียงตามผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัดต่อหัว สัญลักษณ์ประจำจังหวัด
ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ภายในโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ถนนปราจีนอนุสรณ์ ห่างจากตัวเมืองประมาณ 2.5 กิโลเมตร เป็นตึกที่เจ้าพระยาอภัยภูเบศรสร้างขึ้นโดยทรัพย์สินส่วนตัว ในปี พ.ศ. 2452 เพื่อถวายเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในคราวเสด็จประพาสมณฑลปราจีน มีลักษณะสถาปัตยกรรมเป็นตึกสองชั้นแบบยุโรป สมัยเรอเนสซองส์ มีมุขด้านหน้า ตรงกลางเป็นโดม ผนังด้านนอกเป็นปูนปั้นลายพฤกษาประดับซุ้มประตูและหน้าต่าง ภายในตกแต่งแบบตะวันตก กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้ว ภายในตึกจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์แผนไทยอภัยภูเบศร โดยจะเป็นศูนย์การรวบรวมอนุรักษ์ตำราไทย สมุนไพรไทย การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านของจังหวัดปราจีนบุรี อีกทั้งยังเป็นแหล่งการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพร และการแพทย์ของท้องถิ่น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร เป็นโรงพยาบาลนำร่องเรื่องการแพทย์แผนไทย ใช้สมุนไพรบำบัดยารักษาโรค มีการนวด อบ ประคบและฝังเข็ม แปรรูปสมุนไพรไทยเป็นเวชภัณฑ์และเครื่องสำอาง จำหน่ายในราคาย่อมเยา น้ำตกเขาอีโต้ ตั้งอยู่ที่ตำบลเนินหอม น้ำตกเขาอีโต้เป็นธารน้ำที่ไหลผ่านโขดหินน้อยใหญ่ลดหลั่นเป็นชั้นๆ ความสูงไม่มากนัก สภาพบริเวณโดยรอบเป็นป่าโปร่ง มีน้ำมากเฉพาะในช่วงฤดูฝนการเดินทาง ใช้เส้นทางเดียวกับอ่างเก็บน้ำจักรพงษ์ แต่อยู่เลยไปอีกประมาณ 400 เมตร น้ำตกห้วยเกษียร
บริเวณตัวน้ำตกเป็นป่าเขา ปากทางแยกเข้าน้ำตกแห่งนี้อยู่ที่หมู่บ้านขอนขวาง ตำบลดงขี้เหล็ก ซึ่งอยู่ตรงหลักกิโลเมตรที่ 166 หรือห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร แยกซ้ายมือเข้าสู่ตัวน้ำตกอีกประมาณ 4 กิโลเมตร น้ำตกเหวนรก
อยู่บนเส้นทางสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ของจังหวัดปราจีนบุรี นครนายก นครราชสีมา และสระบุรี เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ที่สวย ความสูงประมาณ 60 เมตร และมีหน้าผาสูงชัน น้ำไหลแรงสู่หุบเหวเบื้องล่างในช่วงฤดูฝนการเดินทาง จากตัวเมืองปราจีนบุรีไปตามถนนสุวรรณศรจนถึงสี่แยกเนินหอม (เวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช) แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 3077 ไปจนถึงกิโลเมตรที่ 24 ซึ่งเป็นทางขึ้นเขาใหญ่ เป็นระยะทางประมาณ 40 กิโลเมตร จะมีทางแยกขวาเข้าไปตัวน้ำตก การเดินทางที่จะเข้าไปชมน้ำตกนั้นต้องเดินเท้าเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร บริเวณต้นน้ำตกมีทางเดินลงไปยังจุดชมวิวน้ำตกที่สามารถมองเห็นน้ำตกเหวนรกในมุมมองที่สวยงาม พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปราจีนบุรี
ตั้งอยู่ทางด้านหลังของศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี ประมาณ 200 เมตร เป็นพิพิธภัณฑสถานประเภทประวัติศาสตร์โบราณคดี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมของโบราณวัตถุในเขต 7 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี จันทบุรี ตราด และระยอง ภายในมีการจัดแสดงโบราณวัตถุสำคัญ ซึ่งส่วนใหญ่ได้มาจากเมืองโบราณสมัยทวารวดี อาทิ พระพุทธรูป เทวรูปเคารพในศาสนาฮินดู ศิวลึงค์ ทับหลัง เครื่องใช้สำริด และ จัดแสดงศิลปะในประเทศไทยสมัยต่างๆ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อเนื่องจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 เพื่อประโยชน์ในการศึกษาเปรียบเทียบ รวมทั้งเครื่องถ้วยสังคโลกที่พบใต้ทะเลจากบริเวณเกาะคราม จังหวัดชลบุรี นอกจากนั้นยังจัดสถานที่ส่วนหนึ่งสำหรับนิทรรศการชั่วคราวในโอกาสต่าง ๆ ด้วย พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันพุธ-วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. ปิดวันจันทร์ วันอังคาร อัตราค่าเข้าชม ชาวไทย 10 บาท ชาวต่างประเทศ 30 บาท วัดแก้วพิจิตร ตั้งอยู่ริมฝั่งด้านขวาของแม่น้ำบางปะกง ในเขตเทศบาลเมืองปราจีนบุรี ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศตะวันออกประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นวัดเก่าแก่สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2422 โดยเศรษฐีนีใจบุญชาวปราจีนบุรีชื่อนางประมูลโภคา (แก้ว ประสังสิต) ภรรยาของขุนประมูลภักดี ต่อมาในปี พ.ศ. 2456 เจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม อภัยวงศ์) ได้สร้างพระอุโบสถเพิ่มเติม จึงมีลักษณะทางสถาปัตยกรรม และลวดลายประดับอาคารผสมผสานระหว่างศิลปไทย จีน ยุโรป และเขมร สิ่งที่น่าสนใจภายในวัด ได้แก่ ฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ภายในพระอุโบสถมีภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องราวในพระพุทธศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ วาดโดยช่างหลวงในรัชกาลที่ 6 ด้านหน้าพระอุโบสถมีอาคารเรียนหนังสือไทยนักธรรมบาลีเป็นอาคารคอนกรีต รูปสถูปโดม ศิลปกรีกหรือโรมันอยู่หลังหนึ่ง นอกจากนั้นภายในวัดแก้วพิจิตรยังมีหอพระไตรปิฎกและศาลาตรีมุขที่ท่าน้ำ บรรยากาศภายในวัดร่มรื่น วัดโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตกของตัวเมืองปราจีนบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำบางปะกง ภายในวัดมีพระพุทธรูป 3 องค์ ประดิษฐานเรียงรายไปตามริมแม่น้ำ คือ พระพุทธรูปปางลีลา พระนามว่า "พระสิริมงคลนิมิต พระพุทธรูปปางประทับนั่งห้อยพระบาท พระนามว่า "พระสรรพสิทธินาวา พระพุทธรูปปางประทับนอน พระนามว่า "พระมหาชินไสยาสน์ ภายในวัดมีบรรยากาศร่มรื่นเงียบสงบ การเดินทาง จากถนนเทศบาลดำริถึงสี่แยกถนนสุวินทวงศ์ ทางหลวงหมายเลข 319 แล้วตรงไปตามทางหลวงหมายเลข 3071 ระยะทางประมาณ 4 กิโลเมตร ศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ประดิษฐานอยู่ ณ สี่แยกเนินหอม อยู่ห่างจากตัวเมืองปราจีนบุรีไปทางทิศเหนือ ตามเส้นทางหลวงหมายเลข 320 ประมาณ 9 กิโลเมตร วงเวียนศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราชจะตั้งอยู่ทางขวามือ ศาลแห่งนี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมรูปสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในท่าประทับยืน เหตุที่สร้างศาลขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกถึงพระองค์ท่านในคราวกรีฑาทัพจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อไปปราบนักพระสัฏฐาแห่งเมืองละแวก ระหว่างการเดินทางทัพได้หยุดพักทัพในเขตปราจีนบุรี ประชาชนชาวจังหวัดปราจีนบุรีและจังหวัดใกล้เคียงนิยมมาสักการะบูชาเพื่อเป็นสิริมงคล Cr. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี |
เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น ท่านสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเภทของคุกกี้ที่เราจัดเก็บ เหตุผลในการใช้คุกกี้ และวิธีการตั้งค่าคุกกี้ได้ใน นโยบายคุกกี้ และ คำแถลงว่าด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคล